เรขศิลป์สอบอะไร
- ข้อสอบเรขศิลป์ย้อนหลัง 5 ปี
- ทำยังไงให้ได้คะแนนดี
- การเตรียมตัวสอบ
สำหรับการสอบเรขศิลป์คะแนน 50% ของทั้งหมดจะมาจากคะแนนวิชาทักษะเรขศิลป์ ซึ่งข้อสอบเรขศิลป์จะแบ่งเป็น 2 ข้อใหญ่คือ ข้อสอบออกแบบและข้อสอบวาดเส้น ในแต่ละปีก็อาจจะแบ่งเป็นโจทย์ย่อย ๆ ได้ เช่น มีโจทย์ออกแบบ 3 ข้อ โจทย์วาดเส้น 1 ข้อ ทั้งหมดนี้โจทย์จะให้เวลาเพียง 3 ชั่วโมง ทำให้บางปีมีน้อง ๆ ที่ทำโจทย์ไม่ทันเกือบครึ่งหนึ่งทีเดียว
*** อัพเดทใหม่ล่าสุดสำหรับปี 2018 เรขศิลป์ ศิลปกรรม จุฬาฯ เปิดรับสมัครรอบพอร์ตโฟลิโอ เปิดรับจำนวน 10 คน โดยน้อง ๆ ต้องยื่นพอร์ตช่วงเดือนธันวาคมนะคะ
ข้อสอบออกแบบ
เช่น การออกแบบโปสเตอร์ การออกแบบฉลากบรรจุภัณฑ์ ตราสัญลักษณ์(โลโก้) การจัดองค์ประกอบ การออกแบบมาสคอต ฯลฯ โจทย์ต้องการให้น้องสามารถสื่อสาร หรือเล่าเรื่องราวผ่านภาพและตัวอักษรให้ได้
ข้อสอบวาดเส้น
เป็นข้อสอบประเภทวาดเส้นสร้างสรรค์ เช่น วาดหน้าตัวเองเป็นเพศตรงข้าม สื่อสารราศีเกิดของตัวเองโดยวาดตัวเองรวมกับสัตว์ในราศีที่ตัวเองเกิด วาดหน้าตัวเองโดยใช้องค์ประกอบจากจุด เส้น ระนาบ ฯลฯ โดยโจทย์ต้องการให้น้องใช้จินตนาการในการสร้างภาพ และทดสอบทักษะการวาดรูปทั้งสัดส่วน แสงเงา ความสมจริง
ข้อสอบออกแบบปี 2557
ออกแบบโปสเตอร์ที่แสดงถึงสันติภาพ ห้ามมีรูปนกพิราบ สื่อให้วัยรุ่น ม.ปลาย สนใจ ให้รู้สึกสนุกและน่าสนใจ ต้องมีคำว่า "Give peace a chance" จะมีรูปภาพหรือตัวอักษรอย่างเดียวก็ได้ ตัวอักษรไม่ต้องอ่านง่ายก็ได้
ออกแบบมาสคอตเกี่ยวกับฮอร์โมน กำหนดให้ใช้สีขาวดำ และอีก 2 สี มี 4 ตัวคือ
- อะดรีนาลีน-มีพลังล้น
- ฮอร์โมนที่รู้สึกถึงการหลงรัก
- ฮอร์โมนเกี่ยวกับความผูกพันรู้สึกดี
- เอ็นดอร์ฟิน-ฮอร์โมนเกี่ยวกับความสุข
ข้อสอบวาดเส้นปี 2557
วาดรูปหน้าถึงลำคอ 4 แบบ ดรออิ้งให้จัดหน้ากระดาษและขนาดเอาเอง สามารถใส่องค์ประกอบอื่นเพิ่มได้ โดยมุมห้ามซ้ำกัน เช่น มุมเงย หน้าตรง ก้ม และแต่ละหน้าต้องใช้องค์ประกอบแตกต่างกันดังนี้
- ใช้จุด
- ใช้เส้น
- ใช้ระนาบ
- ใช้ปริมาตรทำให้เหมือนจริง
ข้อสอบออกแบบปี 2558
ออกแบบโปสเตอร์ที่ใช้โฆษณาสินค้าที่มีโลโก้เป็นจุดเด่น จะเป็นสินค้าหรือบริการอะไรก็ได้
ออกแบบคาแรคเตอร์สำหรับการ์ตูนเด็กเพื่อให้ความรู้เรื่องอาหาร ทั้งหมด 3 ตัว คือ หวาน/มัน/เค็ม
ข้อสอบวาดเส้นปี 2558
วาดหน้าตัวเองหน้าตรงและใส่แว่นกับหมวก เพื่อสื่อถึงยุคศิลปะ หรือแรงบันดาลใจจากลัทธิ หรือว่าสไตล์ก็ได้ เช่น gastby / kpop / hiphop แล้วก็ใส่สีตรงหมวกและแว่น
ข้อสอบออกแบบปี 2559
ออกแบบโปสเตอร์โครงการ "To the moon" เป็นโครงการบ้านพักตากอากาศบนดวงจันทร์ มีโดยกำหนดจุดขายของโครงการด้วยตนเอง
ทำ pictogram ประเภทของคน 5 กลุ่ม
- ชายชอบหญิง
- หญิงชอบชาย
- ชายชอบชาย
- หญิงชอบหญิง
- ชายหญิงชอบทั้งหญิงชาย
ข้อสอบวาดเส้นปี 2559
วาดหน้าตัวเอง วาดเฉพาะ outline ด้วยสีประเภทใดก็ได้ห้ามแรเงา เป็นอารมณ์ต่อไปนี้ เลือกมา 3 อารมณ์
- ดีใจ
- ตกหลุมรัก
- เศร้า
- ช็อค
- โกรธ
ข้อสอบออกแบบปี 2560
บางทีเราจะอาจจะจำกลิ่น จำสัมผัส จำคนบางคน ในวัยเด็กได้ สิ่งเหล่านั้นไม่เพียงแต่เป็นความทรงจำ แต่เป็นสิ่งที่หล่อหลอมตัวเราโดยให้คิดว่าหากเราสอบติด แล้วต้องใช้หนังสือเล่มนี้แนะนำตัวด้วยประสบการณ์วัยเด็กของตัวเอง เพื่อต้องการสร้างความประทับใจให้กับเพื่อนใหม่
ให้ทำปกหนังสือ "วัยเด็กของฉัน" ที่ไม่ใช่ภาพเหมือนแสดงเหตุการณ์ แต่เป็นการสร้างสรรค์องค์ประกอบใหม่ ที่แสดงประสบการณ์วัยเด็ก โดยสรุปวลี ประโยค หรือคำที่สื่อสารวัยเด็กของเรา
อารมณ์ความรู้สึกบางที ก็มีสองอารมณ์ผสมกัน ที่แม้แต่เราเองก็ควบคุมอารมณ์ของตัวเองไม่ได้ เช่น
- Love/Hate
- Angry/Amuse
- Remember/Forget
ให้ทำสัญลักษณ์ที่สื่อสารถึง 3 ข้อนี้ โดยใช้ตัวอักษรภาษาอังกฤษทั้งหมด มาผสมรวมกันจนแยกไม่ได้ ไม่เน้นอ่านง่าย
ข้อสอบวาดเส้นปี 2560
ให้วาดหน้าตัวเองด้วยเทคนิค "stained glass" กระจกสี โดยให้วาดหน้าตรง ครึ่งตัว สื่อถึงตัวเอง เช่นงานอดิเรก ความใฝ่ฝันในอนาคต โดยวาดองค์ประกอบรอบๆให้ดูเป็นกระจกหนึ่งบาน
ข้อสอบออกแบบปี 2561
ออกแบบโลโก้น้ำหอมชื่อ ฉุน ขนาด 7x7 ซม.
ออกแบบโปสเตอร์ของน้ำหอมยี่ห้อ ‘ฉุน’ แสดงถึงความไม่เหมือนใคร ความแปลก กลิ่นกระเทียม ทุเรียน น้ำส้มสายชู เป็นนามธรรม ขนาด A3 โดยมีโลโก้ประกอบในโปสเตอร์ด้วย
ข้อสอบวาดเส้นปี 2561
วาดหน้าตนเองโดยใช้เทคนิคตัดแปะจากกระดาษ screen tone ขนาด A4 จำนวน 2 แผ่น แบ่งเป็น 4 น้ำหนัก ให้ขนาดเหมาะสมกับกระดาษ พร้อมใส่ตัวย่อชื่อตนเอง
ทำยังไงให้ได้คะแนนดี
ในโจทย์จะเขียนอย่างชัดเจนว่ามีเกณฑ์การให้คะแนนดังต่อไปนี้
การสื่อสาร (Communication)
ดูว่าน้อง ๆ สามารถสื่อสารสิ่งที่โจทย์ต้องการได้ดีมากน้อยแค่ไหน เช่น ให้ออกแบบโปสเตอร์ต่อต้านการทำสงคราม เมื่อดูแล้วคนดูรู้สึก กลัว รังเกียจ ต่อต้านการทำสงครามเพิ่มมากขึ้นหรือไม่
ทักษะศิลปะ (Elaboration)
เป็นคะแนนในส่วนของการวาดรูป ลงสี รายละเอียดของรูปภาพ มีการจัดองค์ประกอบน่าสนใจหรือไม่
ความยืดหยุ่น (Flexibility)
เช่น การออกแบบหน้าปกหนังสือให้ดูเป็นชุดเดียวกัน ใช้ไอเดียเดียวกัน แต่สามารถทำออกมาให้แต่ละปกมีเอกลักษณ์ของตัวเองได้
ความคิดริเริ่ม (Originality)
งานที่ทำไม่ซ้ำกับที่เคยมีมา เช่น ถ้าเพื่อนในห้องสอบทำเหมือน ๆ กัน แต่เราทำแปลกและยังสื่อสารได้ เราก็จะได้คะแนนตรงนี้เยอะกว่าเพื่อน
การเตรียมตัวสอบ
โดยปกติน้อง ๆ ที่เตรียมตัวอย่างตั้งใจจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี นับตั้งแต่วาดรูปไม่เป็นจนกระทั่งไปสอบเรขศิลป์ได้ บางคนอาจจะใช้เวลาสั้นกว่านั้นหรือนานกว่านั้นมากขึ้นอยู่กับเซ้นส์ทางด้านการออกแบบและศิลปะของแต่ละคนด้วย
สิ่งที่น้องจะต้องเตรียมมี 3 ส่วนคือ
- ทักษะการออกแบบ (คะแนน 30%) ได้แก่ การลงสี การออกแบบโปสเตอร์ การออกแบบโลโก้ การจัดองค์ประกอบ ฯลฯ
- ทักษะการวาดเส้น (คะแนน 20%) เริ่มตั้งแต่การวาดหุ่นนิ่งไปจนถึงการวาดคน และสุดท้ายคือการวาดเส้นสร้างสรรค์
- คะแนนวิชาการ (คะแนน 50%) ได้แก่ คะแนนวิชาภาษาไทย อังกฤษ สังคมหรือเลข และทฤษฎีนฤมิตศิลป์
น้อง ๆ ต้องใส่ใจการสมัครสอบให้ดี กฎเกณฑ์และช่วงเวลาสอบของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งซึ่งมักจะมีการเปลี่ยนแปลงทุก ๆ ปี ทำให้เกิดช่วงเวลาสอบก่อนหลังหรือตรงกัน น้อง ๆ ต้องเลือกว่าอยากเข้าที่ไหนมากที่สุดและจัดการเวลาให้ถูกต้อง
ถ้าใครสนใจอยากจะสอบเข้าเรขศิลป์ อยากรู้ข้อมูลเพิ่มเติมสามารถดูได้ที่ เรขศิลป์เรียนอะไร หรือใครอยากเรียนก็สามารถดู คอร์สกราฟิก ได้ค่ะ