นฤมิตศิลป์คืออะไร
- แต่ละเอกเรียนอะไรบ้าง
- ทำงานอะไร เรียนต่ออะไร
- การเตรียมตัวสอบ
ภาควิชานฤมิตศิลป์อยู่ในคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เรียนเกี่ยวกับการออกแบบ เน้นกระบวนการคิดและออกแบบอย่างมีระบบ ตอบโจทย์ได้ แบ่งออกเป็นวิชาเอก 4 วิชาเอกดังนี้
- เรขศิลป์ (Graphic Design) รับปีละ 20 คน
- แฟชั่นและสิ่งทอ (Fashion & Textile) รับปีละ 20 คน
- หัตถศิลป์ (Ceramic) รับปีละ 10 คน
- นิทรรศการศิลป์ (Exhibition) รับปีละ 10 คน
เรขศิลป์ (Graphic Design)
เรขศิลป์เรียนเกี่ยวกับ “การสื่อสาร” ด้วยภาพและตัวอักษร เช่น การออกแบบโปสเตอร์ หนังสือ แม็กกาซีน ออกแบบป้าย ออกแบบเว็บไซต์ ออกแบบตัวอักษร ฯลฯ หากน้องสนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เรขศิลป์เรียนอะไร?
คอร์สกราฟิกของมานะสตูดิโอ เหมาะสำหรับคนที่ต้องการสอบเข้าเรขศิลป์โดยเฉพาะนะคะ คลิกดูรายละเอียดคอร์สกราฟิกที่นี่ค่ะ
จบไปทำงานอะไร?
เรขศิลป์เป็นสาขาที่ตกงานยากมาก จะทำงานในบริษัทเอเจนซี่ใหญ่ ๆ หรือสตูดิโอเล็ก ๆ ก็ได้ จะเป็นนักออกแบบอิสระ (Freelance) ฉายเดี่ยวรับงานเองทำงานเองก็ได้ และมีบางคนที่หันไปทำงานเป็น Creative คิดโฆษณา
ทางเลือกสำหรับน้องที่อยากเรียนเรขศิลป์
- ภาควิชนฤมิตศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ภาควิชาออกแบบนิเทศศิลป์ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
- CommDe (Communication Design) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- สาขาการออกแบบการสื่อสาร ภาควิชาการออกแบบทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
- สาขาวิชานิเทศศิลป์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
- CommDes (Communication Design) ออกแบบนิเทศศิลป์(หลักสูตรนานาชาติ) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี(บางมด)
- สาขาวิชาการออกแบบนิเทศศิลป์ คณะศิลปกรรม มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
แฟชั่นและสิ่งทอ(มัณฑนศิลป์) (Fashion & Textile)
เป็นสาขาวิชาที่เรียนรู้การออกแบบเครื่องแต่งกาย ตั้งแต่ความรู้ด้านประวัติศาสตร์แฟชั่น การหาแรงบัลดาลใจมาสร้างสรรค์งานออกแบบ การสร้างแบบตัดเสื้อขั้นพื้นฐาน การสร้างคอลเลคชั่น การตลาดแฟชั่น การสร้างแบรนด์ การวิเคราะห์แนวโน้มแฟชั่น และการออกแบบเครื่องประดับ เช่น รองเท้า กระเป๋า
จบไปทำงานอะไร?
เรียนจบแล้วสามารถเป็นดีไซเนอร์, สไตล์ลิส (ควบคุมเสื้อผ้าหน้าผมและ Art Direction ของงาน), Costume Designer (ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกายของนักแสดง), Merchandising (ผู้ดูแลด้านสินค้า ประสานงานขาย และดูแลภาพลักษณ์ของร้าน), Buyer (ฝ่ายจัดซื้อ) และ Textile Designer (นักออกแบบสิ่งทอ) ขึ้นอยู่กับความถนัดของแต่ละคน
ทางเลือกสำหรับน้องที่อยากเรียนแฟชั่น
- ภาควิชานฤมิตศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ภาควิชาออกแบบแฟชั่นดีไซน์ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
- สาขาการออกแบบแฟชั่น ภาควิชาการออกแบบทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
- สาขาวิชาการออกแบบแฟชั่นและสิ่งทอ คณะศิลปกรรม มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
- คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาออกแบบพัตราภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
หัตถศิลป์ (Ceramic)
เรียนการออกแบบและการผลิตเครื่องปั้นดินเผา เช่น ถ้วย จานชาม เครื่องประดับ กระถางต้นไม้ ไปจนถึงของตกแต่งบ้านที่ทำจากเซรามิก เริ่มตั้งแต่วัตถุดิบ ประวัติเครื่องปั้นดินเผา การขึ้นรูปด้วยมือ การขึ้นด้วยแป้นหมุน การผลิตแบบอุตสาหกรรม เช่น การหล่อ การทำแม่พิมพ์ การเคลือบ การเผา การตกแต่ง
จบไปทำงานอะไร?
สามารถเลือกได้ว่าจะทำงานกับบริษัทใหญ่ๆ เช่น cotto หรือไปทำด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์หรือเครื่องประดับ หรือจะทำเป็นลักษณะสตูดิโอเล็กรับทำงานที่สั่งทำพิเศษ เช่น ตามโรงแรมที่ต้องการมีถ้วยชามหรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่เหมือนใคร หรืออาจจะทำงานอิสระเป็นศิลปินเซรามิกเต็มตัวก็ได้
ทางเลือกสำหรับน้องที่อยากเรียนหัตถศิลป์ (เซรามิก)
- ภาควิชานฤมิตศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ภาควิชาออกแบบเครื่องปั้นดินเผา คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
- สาขาเซรามิก ภาควิชาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
- ภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์
นิทรรศการศิลป์ (Exhibition)
นิทรรศการศิลป์เรียนการออกแบบ Window Display (หน้าร้านที่อยู่ตามห้าง) พิพิธภัณฑ์ บูธแสดงสินค้า ฯลฯ ตั้งแต่การการออกแบบโครงสร้าง การตกแต่งและการนำเสนอข้อมูล ได้ทำงานทั้ง 2 มิติและ 3 มิติ
จบไปทำงานอะไร?
ออกแบบนิทรรศการต่างๆ ทั้งงานแสดงสินค้า Window Display พิพิธภัณฑ์ ข้อดีคือได้ทำงานหลากหลาย เนื่องจากงานนิทรรศการมักจะมาเร็วไปเร็ว ลูกค้ามักให้เวลาจำกัดมากในแต่ละงาน
ทางเลือกสำหรับน้องที่อยากเรียนนิทรรศการศิลป์
ปัจจุบันยังไม่มีคณะอื่น ๆ ที่เปิดสาขานี้โดยตรง แต่คนที่เรียนสถาปัตย์หรือตกแต่งภายในก็มีควาามรู้ที่นำมาปรับใช้กับการทำงานสาขานี้ได้
ภาควิชานฤมิตศิลป์สอบเข้ายากแค่ไหน?
ขึ้นอยู่กับการเตรียมตัว เพราะการสอบเข้านฤมิตศิลป์มีการแข่งขันสูง โดยเฉพาะวิชาแฟชั่นและภาควิชาเรขศิลป์ ที่โจทย์เยอะจนน้อง ๆ ทำกันไม่ค่อยทัน นอกจากนี้ยังมีวิชาทฤษฎีนฤมิตศิลป์ที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ศิลป์ และความรู้รอบตัวด้านศิลปะและการออกแบบซึ่งเป็นเรื่องที่น้อง ๆ ต้องสะสมเอาไว้ตั้งแต่ตอนนี้
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีคณะและมหาวิทยาลัยอื่นๆ อีกมากที่เรียนออกแบบ สาขาคล้ายกับของนฤมิตศิลป์ ทำให้น้อง ๆ สามารถใช้ทักษะที่ติวเพื่อเข้านฤมิตศิลป์ไปสอบเข้าที่อื่นได้ด้วย