การออกแบบโลโก้
- ที่มาของโลโก้
- โลโก้ที่ดีควรมีลักษณะอย่างไร
- คำศัพท์เกี่ยวกับโลโก้
ที่มาของโลโก้
หน้าที่หลักของโลโก้คือเป็นตัวแทนและเป็นภาพลักษณ์ของแบรนด์ จุดเริ่มต้นของโลโก้นั้นมีมาเป็นพันปีแล้ว เช่น ชาวนาที่สร้างสัญลักษณ์บนสัตว์เลี้ยงของตัวเองเพื่อแสดงถึงความเป็นเจ้าของ ช่างปั้นหม้อทำสัญลักษณ์บนสินค้าเพื่อบอกว่าหม้อนี้ผลิตจากหมู่บ้านไหน หรือขุนนางมีตราประจำตระกูลเพื่อแสดงถึงอำนาจและความมั่งคั่ง
โลโก้ที่ดีควรมีลักษณะอย่างไร
การออกแบบโลโก้ก็เหมือนการตั้งชื่อ แต่เราสร้างภาพขึ้นมาแทนคำ เราลองไปเปรียบเทียบชื่อที่ดีกับโลโก้ที่ดีกันดูนะคะ
- ชื่อเราต้องไม่เหมือนใคร คนจำได้ไม่สับสน โลโก้ที่ดีก็ต้องไม่ซ้ำกับใคร
- ชื่อเราต้องจำง่าย เป็นชื่อที่ไม่ซับซ้อนเกินไปสะกดง่ายออกเสียงง่าย โลโก้ที่ดีเป็นภาพที่จำง่าย
- ชื่อเราไม่ต้องบอกว่าเราทำอาชีพอะไร โลโก้ก็ไม่จำเป็นต้องบอกว่าแบรนด์ขายสินค้าหรือบริการอะไร เช่น ขายคอมพิวเตอร์ มีโลโก้เป็นรูปแอปเปิ้ลก็ได้
- ชื่อเราต้องเหมาะกับบุคลิกของเรา เช่น เป็นคนชื่อนิ่มก็น่าจะมีนิสัยอ่อนโยนสุภาพ โลโก้ก็ต้องมีบุคลิกเหมาะกับแบรนด์
- ชื่อเราอยู่กับเราตั้งแต่เกิดจนตาย โลโก้ที่ดีก็อยู่ได้นาน
โลโก้ต้องมีเอกลักษณ์และจำได้ง่าย
คำว่าจำได้ง่ายนี้ไม่ได้หมายความว่า ลูกค้าเห็นโลโก้ครั้งเดียวแล้ววาดออกมาจากความจำได้ แต่หมายถึงในภาพรวมลูกค้าสามารถแยกโลโก้เราจากโลโก้แบรนด์อื่นได้โดยไม่สับสน เช่น ไม่มีใครวาดโลโก้สตาร์บัคจากความจำได้ แต่ก็มั่นใจว่าตัวเองแยกสตาร์บัคกับกาแฟอเมซอนได้
โลโก้เป็นส่วนหนึ่งของภาพลักษณ์แบรนด์และทำงานควบคู่กัน เช่น เราจำสตาร์บัคได้เพราะร้านตกแต่งด้วยสีเขียว ชอบใช้วัสดุเป็นไม้ ชุดยูนิฟอร์มของพนักงาน ฯลฯ รายละเอียดปลีกย่อยเหล่านี้ช่วยให้เราจำแบรนด์ได้ดีขึ้น ถ้ามีสตาร์บัคร้านไหนใช้โลโก้เดิมแต่ตกแต่งร้านด้วยสีฟ้า เราคงคิดว่าเป็นร้านปลอมแน่ ๆ
อีกปัจจัยที่ทำให้จำได้คือเราเห็นโลโก้นั้นบ่อยแค่ไหน บางทีโลโก้ซับซ้อนมากแต่เราเห็นทุกวัน ก็ทำให้เราจำได้โดยอัตโนมัติ ทั้งนี้ไม่ได้แปลว่าเราต้องออกแบบโลโก้ให้ซับซ้อน ยกตัวอย่างเช่น เราจำ National Geographic ได้จากกรอบสีเหลืองเพียงอย่างเดียว ซึ่งถือว่าเป็นโลโก้ที่เรียบง่ายมาก
โลโก้ไม่จำเป็นต้องสื่อว่าขายสินค้าหรือบริการอะไร
ข้อนี้อาจจะฟังดูน่าประหลาดใจสำหรับใครหลายคน แต่เราลองคิดดูว่าถ้าต้องออกแบบโลโก้ให้สื่อสารว่าขายสินค้าอะไร ทางเลือกในการออกแบบจะจำกัดมาก และปัญหาใหญ่ที่ตามมาคือโลโก้เราไปซ้ำกับแบรนด์อื่น ซึ่งแปลว่าโลโก้เราจะไม่มีประโยชน์ทันที
ลองยกตัวอย่างสั้น ๆ สมมติว่าเราทำร้านกาแฟแล้วต้องออกแบบโลโก้เป็นรูปแก้วหรือเมล็ดกาแฟ ก็ย่อมซ้ำกับร้านกาแฟอีกเป็นร้อยเป็นพันแน่นอน หรือสมมติว่าบ้านเราเป็นโรงงานเชือดวัว ถ้าเราต้องทำโลโก้เป็นรูปคนเชือดวัวก็จะดูโหดร้ายเกินไป เราควรจะเลี่ยงไปสื่อสารเรื่องบุคลิกของแบรนด์มากกว่า
อีกเหตุผลที่ทำให้โลโก้ไม่ต้องเล่าว่าแบรนด์ขายอะไรก็คือ 99% ของโลโก้จะถูกใช้ร่วมกับสินค้าหรือบริการนั้นอยู่แล้ว เช่น โลโก้รูปนางเงือกสีเขียวอยู่บนแก้วกาแฟ เราย่อมเดาได้ว่าร้านนี้ขายกาแฟ รูปแอปเปิ้ลแปะอยู่หลังคอมพิวเตอร์ เราก็รู้ได้ทันทีว่าขายคอมพิวเตอร์
ทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ควรออกแบบโลโก้ที่สื่อสารว่าแบรนด์มีสินค้าหรือบริการอะไร แต่เราไม่ควรเอาสิ่งนี้มาเป็นข้อจำกัดในการออกแบบของเราเท่านั้นเอง
โลโก้ต้องเหมาะกับบุคลิกของแบรนด์
จากรูปตัวอย่างด้านบน โลโก้ของไนกี้หรืออาดิดาส ดูแล้วก็รู้สึกได้ทันทีว่าน่าจะเกี่ยวกับความเร็วหรือการเคลื่อนไหว ต่างจากโลโก้ Birkenstocks ที่ดูแล้วรู้สึกแมน ๆ สมบุกสมบัน
หรือจากตัวอย่างข้อที่แล้ว ถ้าเราทำโรงงานเชือดวัว โลโก้เราก็น่าจะสื่อสารเรื่องความสะอาด ได้มาตรฐาน อาจจะใช้แค่ตัวหนังสือที่ดูสะอาด ๆ เป็นมิตรมาออกแบบโลโก้ก็เพียงพอแล้ว
โลโก้ต้องอยู่ได้นาน
แน่นอนว่าโลโก้ที่อยู่ได้นานย่อมดีกว่า ยิ่งอยู่นานโอกาสที่คนจะจำได้ก็มีมากขึ้น โลโก้จะอยู่ได้นานก็มาจากทุก ๆ ข้อที่เราพูดถึงไปแล้วค่ะ
เราจะเห็นว่านักออกแบบโลโก้ต้องออกแบบการนำไปใช้และออกแบบภาพลักษณ์ของแบรนด์นั้น ๆ เพื่อให้ทุกอย่างทำงานร่วมกันและทำให้คนจำได้ เข้าใจว่าแบรนด์มีบุคลิกอย่างไร
ในยุคปัจจุบัน โลโก้มักจะถูกใช้ในสื่อหลากหลายประเภทตั้งแต่ขนาดเล็กเท่ายางลบปลายดินสอไปจนถึงขนาดเท่าตึก พิมพ์ขาวดำ สีเดียวหรือหลายสี เช่น facebook ใช้คำว่า facebook เป็นโลโก้ แต่ถ้าต้องอยู่ในพื้นที่จำกัด ก็ใช้ตัว f บนพื้นฟ้าแทน และเรายังพบเห็นโลโก้ที่สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองไปได้ตามสภาพแวดล้อมหรือการใช้งานอีกด้วย
ผลงานด้านบนออกแบบโดยบริษัท Pentagram เป็นโลโก้ของ MIT media lab โลโก้หลักของ MIT สามารถนำไปประยุกต์ใช้เป็นโลโก้ของแต่ละคอร์สได้ และยังประยุกต์มาออกแบบโปสเตอร์และสื่ออื่น ๆ ได้ง่ายอีกด้วย
คำศัพท์เกี่ยวกับโลโก้
- โลโก้ หมายถึง ตราสัญลักษณ์ที่ใช้แทนแบรนด์ บุคคล หรือองค์กรก็ได้ สามารถเป็นได้ทั้งภาพและตัวอักษร
- Symbol, Mark หมายถึง สัญลักษณ์หรือตราสัญลักษณ์ที่เป็นภาพเท่านั้น ไม่มีตัวอักษร
- Logotype หมายถึง ตราสัญลักษณ์ที่เป็นตัวอักษร
- Combination Mark หมายถึง ตราสัญลักษณ์ที่มีทั้งภาพและตัวอักษร เช่น Burger King
- Corporate Identity (CI) หมายถึง ภาพลักษณ์องค์กร เช่น สีประจำองค์กร ฟอนต์ โลโก้ ระบบป้าย เครื่องแบบพนักงาน ฯลฯ
น้อง ๆ ที่สนใจเรื่องการออกแบบโลโก้ สามารถเข้าไปดูในเว็บไซต์ต่อไปนี้ค่ะ