เรขศิลป์เรียนอะไร
- ปี 1-4 เรียนอะไรบ้าง
- ทำงานอะไร เรียนต่ออะไร
- ใครเหมาะจะเรียนเรขศิลป์บ้าง
เรขศิลป์หรือ Graphic Design เป็นวิชาเอกในภาควิชานฤมิตศิลป์ คณะศิลปกรรม จุฬาฯ แต่ละมหาวิทยาลัยก็มีชื่อเรียกวิชานี้แตกต่างกัน เช่น
- นิเทศศิลป์ ของศิลปากร ลาดกระบัง
- ออกแบบสื่อสาร ของมศว
- เรขศิลป์ ของศิลปกรรม จุฬาฯ
- CommDe (Communication Design) ของสถาปัตย์ จุฬาฯ
- CommDes (Communication Design) ของบางมด
ใครสงสัยว่าที่ไหนเรียนอะไรหรือที่มานะสอนวิชาอะไรบ้างดูได้ที่ลิงค์ด้านล่างนี้ค่ะ
ด้านล่างเป็นคลิปที่พี่ ๆ จากแต่ละมหาวิยาลัยมาคุยกันว่าเราเรียนแตกต่างกันยังไง
เรขศิลป์เรียนอะไรบ้าง
การเรียนปี 1 — ชีวิตใหม่ในมหาลัย
ช่วงปี 1 สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการปรับตัวให้เข้ากับชีวิตมหาลัย รวมไปถึงกิจกรรมรับน้องที่หลาย ๆ คนอาจจะกลัว ที่คณะศิลปกรรมกิจกรรมรับน้องไม่ถือว่าหนักหนาเกินไป สำหรับวิชาที่เรียนก็จะมีพื้นฐานการออกแบบ 2 มิติ 3 มิติ วาดเส้น ประวัติศาสตร์ศิลป์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ วิชาพื้นฐานของเมเจอร์ทั้งหมดในนฤมิตศิลป์ โดยรวมเป็นปีที่เรียนไม่ยากแต่อาจจะรู้สึกว่ากิจกรรมเยอะไม่ค่อยมีเวลาทำการบ้าน
การเรียนปี 2 — พื้นฐานกราฟิก
ปีสองเป็นปีแรกที่น้อง ๆ จะได้เรียนวิชาเมเจอร์ของตัวเองอย่างจริงจัง สำหรับเรขศิลป์ก็จะเป็น Graphic 1-5 ใน 1 เทอมก็เรียน 1 ตัว อาจจะเรียงไม่เหมือนกันในแต่ละปี โดยปกติปีสองจะเรียนเรื่อง Typography, Environmental Graphic Design, เรียนการเขียน Design Brief, เรียนวิชา Color หรือ Illustration ส่วนพวกวิชาการก็เรียนคล้าย ๆ ปีหนึ่งคือพวกภาษา ประวัติศาสตร์ศิลปะและที่เพิ่มมาคือวิชาเลือกนอกคณะที่น้อง ๆ เลือกได้เองว่าอยากเรียนวิชาของคณะอะไร
การเรียนปี 3 — เป็นนักศึกษาฝึกงาน
โดยรวมน้อง ๆ จะได้เรียนวิชาที่ยากขึ้น มีกระบวนการคิดการทำงานแต่ละโปรเจ็คที่ยาวนานขึ้น วิชา Graphic มักจะเรียนเรื่อง Branding, Editorial Design (เรียนทำหนังสือทำแม็กกาซีน), เรียน Ad (โฆษณา), วิชาการเขียนวิจัย ฯลฯ อาจจะมีอาจารย์พิเศษนอกคณะมาสอนวิชา Photo หรือวิชาพิเศษอื่น ๆ และในระหว่างปิดเทอมจะต้องไปฝึกงาน โดยน้อง ๆ จะต้องทำพอร์ตเพื่อยื่นฝึกงานแต่ละที่ด้วยตนเอง งานที่อยู่ในพอร์ตส่วนมากก็จะเป็นงานระหว่างที่เราเรียนปี 1-3
การเรียนปี 4 — ทีสิส
ปีสี่จะเป็นปีที่เราทุ่มเทเวลาทั้งหมดให้กับการทำทีสิส โดยเราจะต้องคิดหัวข้อตั้งแต่ช่วงปิดเทอม เปิดเทอมปีสี่เราก็ยื่นหัวข้อ ถ้าผ่านก็สามารถเขียนวิจัยต่อได้เลย ส่วนในเทอมสองจะเป็นการออกแบบทีสิส โดยนำวิจัยที่เราทำเสร็จแล้วมาใช้ ปีสี่เป็นปีที่ว่างมากที่สุด น้อง ๆ บางคนที่เรียนวิชาเลือกครบแล้วอาจจะเรียนแค่อาทิตย์ละ 1-2 วัน เทอมสองก็ไปเจออาจารย์ที่ปรึกษาตามที่อาจารย์นัด ไม่มีวิชาที่ต้องเรียน
จบมาแล้วทำงานอะไร
สายงานของนักกราฟิกมีความหลากหลายมาก หลายคนก็ไปอยู่บริษัทกราฟิกทั้งขนาดเล็กและใหญ่ บางคนทำงานกับสำนักพิมพ์ บางคนไปทำเว็บไซต์ หรือถ้าเป็นคนที่คิดเก่ง ๆ ก็ไปอยู่กับบริษัทโฆษณา ตัวอย่างงานและตำแหน่งที่น้องควรรู้จักได้แก่
- นักกราฟิก (Graphic Designer) เป็นความหมายกว้าง ๆ ทำงานออกแบบหน้าปกหนังสือ จัดเลย์เอาท์ ออกแบบ Brand Identity ออกแบบ Environmental Graphic ฯลฯ
- นักวาดภาพประกอบ (Illustrator) วาดภาพประกอบสำหรับสื่อต่าง ๆ เช่น หนังสือ นิตยสาร บรรจุภัณฑ์ ป้าย โบรชัวร์ สติ้กเกอร์ ฯลฯ
- นักคิดโฆษณา (Creative) คือคนที่มีหน้าที่คิดโฆษณา โดยอาจจะไม่ต้องคิดภาพหรือออกแบบอะไรเลยก็ได้
- ผู้กำกับศิลป์ (Art Director) คนที่ออกแบบภาพและกำหนดทิศทางองค์ประกอบศิลป์ ในแมกกาซีน หนังสือ ภาพถ่าย โฆษณาหรือแม้แต่ภาพยนตร์
- นักออกแบบตัวอักษร (Typographer) คนออกแบบตัวอักษรหรือฟอนต์
- ห้องอาร์ต หมายถึง คนที่คอยรับคำสั่งจากนักออกแบบ ทำตามคำสั่งต่าง ๆ เช่น วาดรูป ไดคัทรูป รีทัชรูป ฯลฯ
ถ้าใครยังนึกไม่ออก ลองเข้าไปดูตัวอย่างกันค่ะว่าสตูดิโอกราฟิกเค้าทำงานอะไรกันบ้าง ครึ่งแรกจะเป็นสตูดิโอต่างประเทศส่วนครึ่งหลังเป็นสตูดิโอในประเทศไทยนะคะ
- https://sagmeisterwalsh.com
- https://www.pentagram.com
- http://www.graphicthoughtfacility.com
- http://www.bigactive.com
- http://spin.co.uk
- http://wangzhihong.com
- http://practical.co.th/blog/
- http://www.marketingmaterials.info
- http://www.verykindinvention.com
- https://studio150.info
- http://theuniformdesignstudio.com
- http://cadsondemak.com
ใครเหมาะจะเรียนเรขศิลป์บ้าง
คนที่เหมาะจะเรียนเรขศิลป์ ก็จะมีนิสัยของนักออกแบบ คือสนใจเรื่องความงามและประโยชน์ใช้สอย ช่างสังเกต มีความคิดสร้างสรรค์ ชอบลองผิดลองถูกหรือหาคำตอบใหม่ ๆ เป็นคนมีความคิดเห็น เป็นคนชอบแก้ปัญหา สามารถอธิบายสิ่งที่ตัวเองคิดได้
ข้อมูลที่ต้องรู้ก่อนเรียนเรขศิลป์
สำหรับน้อง ๆ ที่ชอบวาดการ์ตูน หรือทำ Animation ก็มีคณะอื่น ๆ ที่จะเหมาะสมกว่าเรขศิลป์นะคะ เพราะเรขศิลป์จะไม่เน้นเรื่องการวาดการ์ตูนหรือทำ Animation บางคนเข้าใจผิดกว่าจะรู้ตัวก็ขึ้นปี 2-3 แล้ว
อีกกรณีที่ต้องระวังคือ การเรียนเรขศิลป์ไม่ใช่การเรียนคอมพิวเตอร์ ไม่ใช่การเรียน Photoshop Illustrator คนที่ชอบทำงานคอม อาจจะไม่ได้ชอบออกแบบกราฟิกก็ได้ ตลอด 4 ปีที่เรียน น้อง ๆ อาจจะได้เรียนวิชาคอมพิวเตอร์เพียง 1-2 ตัวเท่านั้น ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการหาความรู้หรือเรียนด้วยตัวเองค่ะ
ข้อดีของการเรียนเรขศิลป์
จุดเด่นของเรขศิลป์คือการออกแบบอย่างมีเหตุผล มีที่มาที่ไป มองการออกแบบว่าเป็นการแก้ปัญหาไม่ใช่แค่การตกแต่งให้สวยงาม ทำให้น้อง ๆ ที่จบมาค่อนข้างพร้อมกับการทำงานจริง
เนื่องจากเรขศิลป์รับจำนวนน้อย 1 รุ่นรับ 20 คน ทำให้การแข่งขันสูง เพื่อน ๆ ในห้องส่วนใหญ่จะมีความตั้งใจทำให้เราขยันไปด้วย
สุดท้ายคือการเรียนในใจกลางเมือง ทำให้เราได้พบเห็นงานออกแบบตามห้างสรรพสินค้าตามสยาม สามารถไปพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการต่าง ๆ ได้สะดวก มีอีเว้นท์ที่เกี่ยวกับการออกแบบอยู่บ่อย ๆ